ยินดีต้อนรับ คุณ Sylvain!

Sylvain Bano คือผู้อำนวยการคนใหม่ของสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563

เขาคือใครและมีโครงการพัฒนาสมาคมไปทางไหน ?

จาก ปารีส, ปราก, โอเดสซา สู่ กรุงเทพ...

หลังจากจบการศึกษาด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม กฎหมายมหาชน และด้านการสอนภาษา Sylvain Bano ได้ทำงานในตำแหน่งผู้ตรวจการและที่ปรึกษาด้านการศึกษาทางศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมในกระทรวงวัฒนธรรมและได้เข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563

ก่อนที่จะเริ่มงานในกรุงเทพ Sylvain ได้ทำงานหลายตำแหน่งในกระทรวงวัฒนธรรมโดยเฉพาะในสำนักงานรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมที่ซึ่งเขาได้ทำงานร่วมกับท่านรัฐมนตรี Roselyne Bachelot และท่านรัฐมนตรี Franck Riester นอกจากนี้เขายังเคยทำงานในพิพิธภัณฑ์ Quai Branly ในตำแหน่งผู้ดูแลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรวมไปถึงทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและท้องถิ่นในเขต Vosges และ Haute-Marne ของแคว้น Grand Est และเขาเคยทำงานภายใต้กระทรวงว่าการยุโรปและการต่างประเทศในฐานะผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศส โอเดสซา ประเทศยูเครน ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2558 และตำแหน่งผู้ประสานงานกลุ่มสมาคมฝรั่งเศสของสาธารณรัฐเช็ก ณ กรุงปราก ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2554 และทำงานใน Institut Français เมืองซูราบายา ประเทศอินโดนีเซีย และท้ายที่สุด.....เขาเคยมีประสบการณ์ฝึกงานสำหรับปริญญาโทชั้นปีที่ 2 ณ สถานทูตฝรั่งเศสและสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ แห่งนี้ ในปี 2552

เส้นทางชีวิตหวนคืนสู่ประเทศไทย

ผู้อำนวยการคนใหม่ของเราเคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2552 เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเขาได้มีโอกาสทำงานในช่วงเทศกาล "La Fête" ที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ รวมไปถึงได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนากิจกรรมเชิงบริษัท ได้ศึกษาต่อด้านการสอนภาษาและเหนือสิ่งอื่นใดคือการได้สำรวจเพื่อทำความรู้จักประเทศไทยมากขึ้น...

ด้วยความหลงใหลในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ นอกจากภาษาฝรั่งเศสที่เป็นภาษาแม่แล้ว Sylvain สามารถพูดภาษาอังกฤษ สเปน รัสเซีย และภาษาไทยได้อีกด้วย !

สำหรับผม ภาษาไทยแตกต่างจากภาษาอื่น ๆ ที่ผมเคยเรียนมา เนื่องจากมันเป็นภาษาที่ทำให้ผมเข้าใจว่าการ “คิดด้วยอีกภาษาหนึ่ง” นั้นจะช่วยให้เราเข้าใจบริบทของสังคมและวัฒนธรรมทั้งทางความคิดและความรู้สึกได้อย่างแท้จริงอีกทั้งยังเป็นกุญแจที่ใช้สำหรับไขประตูสู่โลกอันกว้างใหญ่มากยิ่งขึ้น

ซึ่งประเด็นเรื่องสังคมและวัฒนธรรมนี้เองก็เป็นสิ่งที่สมาคมฝรั่งเศสทั่วโลกต้องการจะรักษาและสืบทอดต่อไป โดยเฉพาะการให้ความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาซึ่งมีความสำคัญต่อมนุษยชนไม่แพ้กับความหลากหลายทางชีวภาพ”

สมาคมฝรั่งเศส สถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา

“วิสัยทัศน์ของผมในขั้นแรกคือการสานต่อภารกิจของสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพแห่งนี้ที่ถูกก่อตั้งมาเป็นเวลาเกือบ 110 ปี ตลอดจนภารกิจหลักของสมาคมฝรั่งเศสทั่วโลกที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 ซึ่งก็คือการสนับสนุนการเรียนภาษาฝรั่งเศส และส่งเสริมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาฝรั่งเศส รวมไปถึงการทำงานเชิงวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างฝรั่งเศส-ไทย เพื่อที่จะทำให้สมาคมกลายเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนสำหรับทุกคน

นับตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญล่าสุดคือการย้ายที่ทำการมายังอาคารอันสวยงามแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนถนนวิทยุ และใกล้กับอภิมหาโครงการสุดหรูอย่าง One Bangkok ภายในอาคารก็ประกอบไปด้วยสถานที่มากมาย เช่น ห้องออดิทอเรียมที่สามารถใช้เป็นโรงฉายภาพยนตร์ก็ได้, ห้องสมุดมัลติมีเดีย, พื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ, ห้องสำหรับคลาสเรียนเต้น ตลอดจนแผนกแปลภาษา ทั้งนี้ยังรวมไปถึงร้านอาหาร Café Mademoiselle ร้านหนังสือ Carnets d’Asie และศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย (IRASEC) ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ่วมกันจากทุกฝ่ายที่เราจำเป็นต้องรักษาและพัฒนาต่อยอดออกไปให้ดียิ่งขึ้น  

ผมมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้สมาคมฝรั่งเศสเป็นสถานที่แห่งการพบปะทางด้านสังคม ศิลปะและอาชีพ สำหรับทั้งคนไทยและกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพไม่ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศสหรือชาติอื่น ๆ ก็ตาม 

ภารกิจนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ทีมงานของสมาคมและสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส หน่วยงาน CampusFrance รวมไปถึงสมาคมฝรั่งเศสแห่งอื่นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ต 

โชคดีครับ/ค่ะ คุณซิลแว็ง !